CAT datacom News & promotion

ศูนย์รวมข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับ CAT datacom

ทูน่านี้ท่านได้แต่ใดมา: เปลี่ยนอุตสาหกรรมประมงด้วย Blockchain

22.08.2018

ทูน่านี้ท่านได้แต่ใดมา: เปลี่ยนอุตสาหกรรมประมงด้วย Blockchain


เวลาพูดถึงทูน่าบางทีเราอาจจะนึกถึงทูน่าบรรจุกระป๋องที่เรามักจะได้ยินสรรพคุณในฐานะอาหารไขมันต่ำเหมาะกับผู้ที่อยากควบคุมน้ำหนัก หรือในอีกมุมนึงก็อาจจะนึกถึงเนื้อทูน่าแดงที่เหมาะสำหรับนำไปทำสเต็กทูน่า แต่ถ้าจะให้เป็นหนึ่งในสุดยอดอาหารจากทูน่าหรือมากุโระก็ต้องเป็นโอโทโร่ (เนื้อปลาทูน่าส่วนท้อง) สีชมพูระเรื่อแทรกด้วยลายไขมันจัดวางอย่างประณีตให้เป็นซูชิคำโตในร้านอาหารญี่ปุ่นใจกลางเมืองใหญ่ รอคอยให้ลูกค้าผู้หิวโหยเข้ามาจับจ่ายเลือกซื้อรับประทาน ซึ่งความยอดเยี่ยมของทูน่านอกจากความอร่อยแล้วยังมีทั้งคุณค่าทางโภชนาการ มีโปรตีนสูง อุดมไปด้วยไขมันที่จำเป็นต่อการเสริมสร้างพัฒนาการของร่างกาย

 

แต่กว่าจะแปลงคุณค่าที่อุดมเหล่านี้มาถึงผู้บริโภคได้ ต้องผ่านกระบวนที่ซับซ้อนที่เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมที่มีการทำลายสิ่งแวดล้อม การละเมินสิทธิมนุษยชน การค้ามนุษย์และแรงงานทาสเป็นอย่างมาก

 

ปัจจัยหลักที่ทำให้อุตสาหกรรมประมงนั้นเป็นอุตสาหกรรมทำลายล้างก็เป็นเพราะความไม่โปร่งใสของข้อมูล พอไม่มีข้อมูล ก็ไม่มีการตรวจสอบ พอไม่มีการตรวจสอบก็ไม่มีการวิเคราะห์ พอไม่มีการวิเคราะห์ก็ยากที่จะสร้าง action ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ความโปร่งใสของข้อมูลเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยงมาแล้วในหลายอุตสาหกรรม เช่น ในภาคการเมืองฝั่งโลกตะวันตกโดยเฉพาะในสหภาพยุโรป ได้มีการผลักดันให้ข้อมูลทั้งหมดของภาครัฐเป็นข้อมูลเปิด (open data) ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการใช้จ่ายขององค์กรภาครัฐ ข้อมูลการตรวจสอบทางสิ่งแวดล้อม ข้อมูลอุตสาหกรรม ฯ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ เป็นข้อมูลที่มีไว้เพื่อตรวจสอบการทำงานของภาครัฐและช่วยให้พลเมืองและรัฐสามารถทำงานร่วมกันได้ เพราะมีพื้นฐานข้อมูลเดียวกัน

 

ในฝั่งอุตสาหกรรมประมงก็มีความพยายามที่จะสร้างความโปร่งใสของข้อมูลในอุตสาหกรรมของตัวเองอยู่เหมือนกัน แต่ซับซ้อนของห่วงโซ่อุปาทานของอุตสาหกรรมเองก็เป็นอุปสรรคในการสร้างความโปร่งใสนั้น ถ้าจะให้เห็นภาพกว้างๆ ของอุตสาหกรรมประมงโดยสังเขป ก็ต้องนึกถึง เรือประมงซึ่งเป็นต้นทางของข้อมูล เมื่อเรือประมงเข้าเทียบท่า ข้อมูลการจับปลาก็จะถูกส่งต่อให้พ่อค้าที่รับซื้อปลา หรือโรงงานแปรรูป ที่จะทำการแปรรูปปลาทูน่า 1 ตัวให้กลายเป็นชิ้นส่วนย่อยตามแต่ความเหมาะสม หัวปลาอาจจะถูกส่งไปยังอุตสาหกรรมหนึ่ง เนื้อแดงไปยังอีกโรงงานหนึ่ง เนื้อท้องหรือโอโทโร่อันโอชะอาจจะถูกส่งต่อไปยังร้านซูชิหรูใจกลางกินซ่าในประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

 

หากจะจัดการข้อมูลที่ซับซ้อนระดับนี้ ก็ต้องมานั่งเถียงกันอีกว่าใครจะเป็นคนจัดเก็บข้อมูลเหล่านี้ เราจะเชื่อได้อย่างไรว่าคนจัดเก็บข้อมูลนั้นไม่แอบเปลี่ยนข้อมูลกลางทางเพื่อให้เป็นคุณหรือโทษกับหน่วยอื่นๆ ในห่วงโซ่อุปาทาน พอผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ไว้ใจกันเองเสียแล้ว ก็เอวังไม่ต้องทำอะไรกันต่อ แล้วคนที่ลำบากก็คือคนที่ใช้แรงงานในอุตสาหกรรมเหล่านั้น

 

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา Blockchain ได้ถูกพูดถึงในหลายอุตสาหกรรม ทั้งในวงการเงินตราเข้ารหัส (Cryptocurrency) เช่น Bitcoin หรือการทำบัญชีแบบกระจายศูนย์ (Decentralized ledger) คำถามหลักในการกำเนิดของ Blockchain คือเราจะไม่ควรจะไว้ใจให้คนหรือองค์กรเพียงหนึ่งเดียวเก็บข้อมูลของคนหมู่มากทีมีส่วนได้ส่วนเสียกันในระบบ เช่น เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า 100 บาทของเราในธนาคารจะไม่ถูกเปลี่ยนแปลงเพระโดยบุคคลประสงค์ร้ายแฮคเข้ามาเปลี่ยนแปลงยอดเงินของเราเพราะมีแค่ธนาคารเท่านั้นที่เป็นผู้ดูแลรักษาข้อมูลของเรา หรือตัวอย่างความท้าทายของอุตสาหกรรมปลาทูน่าก็เป็นตัวอย่างที่ดี

 

Blockchain ออกแบบมาเพื่อช่วยให้การเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยในโครงสร้างงานเดียวกันแต่หน่วยงานเหล่านั้นไม่ไว้ใจกัน ถ้าหากตัดประเด็นเชิงเทคนิคออกไป คำอธิบาย Blockchain แบบง่ายที่สุดก็คือ ระบบฐานข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (decentralized) ที่การันตีว่าทุกคนจะมีข้อมูลชุดเดียวกันเสมอและสร้างอุปสรรคให้การแอบแก้ไขข้อมูลนั้นมีต้นทุนสูงมากจนไม่คุ้มค่าที่จะทำ

 

ในอุตสาหกรรมประมงปลาทูน่าเองก็ได้มีการสร้างเครื่องมือต้นแบบในการสร้างฐานข้อมูลการติดตามปลาทูน่าบน Ethereum ซึ่งเป็น Blockchain สาธารณะ และพบว่าสามารถช่วยสร้างความโปร่งใสและสร้างกลไกการติดตามย้อนกลับได้ตั้งแต่ระดับผู้บริโภคจนถึงชาวประมง ซึ่งเป็นการติดตามได้ตั้งแต่ในทะเลจนถึงโต๊ะอาหาร (from the sea to the table)

 

 

กลไกการตรวจสอบย้อนกลับทั้งห่วงโซ่อุปาทานจะทำให้เราสามารถสร้าง application ตัวหนึ่งที่เชื่อมเข้าฐานข้อมูล Blockchain ห่วงโซ่อุปาทานของปลาทูน่า แล้วเดินไปซื้อเนื้อแดงของปลาทูน่าเพื่อมาทำสเต็ก เราเปิด application เพื่อสแกนบาร์โค้ดแล้วระบบจะแสดงให้เราเห็นว่า ก่อนบรรจุกระป๋อง เนื้อในกระป๋องนี้ได้รับการแปรรูปที่ไหน เมื่อไร เนื้อปลานี้มาจากโรงงานใด ซึ่งรับซื้อมาจากพ่อค้าคนกลางรายใด ที่โป๊ะไหน และปลาที่เป็นต้นกำเนิดของเนื้อชิ้นนี้ถูกจับที่น่านน้ำไหน เมื่อใด โดยเรือประมงลำใด และเรือประมงลำนี้มีประวัติการดำเนินงานอย่างไร การเปิดเผยข้อมูลทั้งห่วงโซ่ที่การันตีได้ว่าข้อมูลจะถูกต้องเสมอนี้จะช่วยให้ฝั่งผู้ผลิตเองต้องคอยระวังไม่ให้ตัวเองทำผิด ฝั่งผู้บริโภคเองก็จะสามารถบริโภคได้อย่างมีสติและมีทางเลือกในการร่วมอนุรักษ์ผ่านการบริโภคของตัวเองได้

 

อย่างไรก็ตามไอเดียนี้ยังเป็นการทดลองอยู่ เพราะการจะสร้างฉันทามติให้ทั้งอุตสาหกรรมที่ไม่เคยเปิดเผยการดำเนินของตนเองมาให้เปิดเผยทั้งหมดก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ แต่เท่าที่ทราบมาก็พบว่าทายาทรุ่นใหม่ๆ ของอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็มีความตั้งใจที่จะทำให้อุตสาหกรรมปลาทูน่าเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่สร้างของเหลือ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสร้างประโยชน์กันชุมชนให้มากขึ้นด้วยเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งภายในปี พ.ศ. 2562 เราน่าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงและการทดลองใหม่ๆ จากทายาทอุตสาหกรรมเหล่านี้

เราก็นั่งรอวันที่จะนั่งจิบชา คีบโอโทโร่เข้าปากและเรียนรู้ว่าเนื้อชิ้นนี้มาจากพิกัดไหนในโลกในเร็ววันครับ

 

        โดย ปฏิพัทธ สุสำเภา  ผู้ร่วมก่อตั้ง Open Dream บริษัทผู้สร้าง Application PODD ที่ได้รับความสนใจจากสื่อระดับโลกอย่าง  BBC และ CNN

 

อ้างอิงข้อมูล

 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา