CAT datacom News & promotion

ศูนย์รวมข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับ CAT datacom

5G and How it will change our lives - ระบบสื่อสารไร้สายยุคที่ 5 ที่จะมาเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราในอนาคต

12.03.2019

ลองคิดภาพ นั่งเล่นเกมส์ออนไลน์ที่เชื่อมต่อกับผู้เล่นมากมายบนโลกใบนี้ด้วย VR Headset หรือ Smartphone แบบ Real-time ไม่มีการกระตุก ไม่มีหน่วง ในขณะเดียวกันที่นั่งอยู่ในรถยนต์ไร้คนขับที่ขับเคลื่อนด้วยความเร็ว 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

หลายคนอาจจะบอกว่านี่มันหนัง Sci-fi โลกอนาคตเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าผมจะบอกคุณว่าระบบสื่อสารไร้สายยุคที่ 5 หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า 5G จะทำเรื่องนี้ให้เป็นจริงได้คุณจะเชื่อไหม? ไม่ใช่แค่การเล่นเกมส์เท่านั้น อนาคตของทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเรากำลังจะเปลี่ยนไปตลอดกาลในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

 

ถ้าเรายกโทรศัพท์ขึ้นมาดูเราจะเห็นตัวสัญลักษณ์ที่เขียนว่า 4G หรือบางครั้งก็ 3G (หวังว่าคงไม่มี 2G หลงเลืออยู่แล้วนะ) ซึ่งทุกคนก็รู้ว่านี่มันเป็นตัวบ่งชี้ถึงความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลตามสัญญาณโทรศัพท์ ยิ่งตัวเลขสูงก็ยิ่งเร็วมากขึ้นไปด้วย คอนเซ็ปของเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เข้าใจง่าย โดย G นั้นหมายถึง Generation หรือ “ยุค” และแต่ละยุคระบบสื่อสารไร้สายก็หมายถึงระดับความเร็วในการสื่อสารของเครือข่ายที่จะบอกว่าอยู่ในยุคที่เท่าไหร่

 

1G - ทำให้เราพูดคุยกันผ่านโทรศัพท์มือถือ

2G - ทำให้เราส่งข้อความหากันได้

3G - มีอินเตอร์เน็ท

4G - ทำให้เราเห็นภาพและเสียง

5G - เชื่อมต่อทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้

 

บางคนอาจจะบอกว่า 5G ก็คงไม่ต่างกับ 4G เท่าไหร่ อาจจะเร็วกว่าหรือเสถียรกว่า แต่ที่จริงแล้วมันเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่เลยก็ว่าได้ เพราะการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ต่างๆกับอินเตอร์เน็ตจะเปลี่ยนไปและที่สำคัญการเชื่อมต่อหากันเองของอุปกรณ์เหล่านี้ ซึ่งตอนนี้อุปกรณ์ไอทีแทบทุกอย่างก็เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตอยู่แล้ว แต่แล้วทำไมหล่ะ 5G มันสำคัญยังไงกัน?

 

อย่างแรกเลยคือเรื่องความเร็ว ซึ่งเร็วกว่า 4G อย่างที่เรียกว่าเทียบกันไม่เห็นฝุ่น โดย 5G จะมีความเร็วประมาณ 20Gbps เทียบกับ 4G แล้วจะเร็วกว่า 100-200 เท่า! (4G อยู่ที่ 10-20 Mbps) ถ้าเปรียบเทียบเป็นภาพยนต์ HD สักเรื่องบน 4G ถ้าไปอยู่บน 5G ก็จะดูหนังแบบ 8K ได้ประมาณ 400 เรื่องในเวลาเดียวกัน และนั้นอาจจะฟังดูน่าทึ่งแล้วในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่จบเท่านั้น สิ่งที่ทำให้ 5G นั้นน่าสนใจคือ Low Latency Rate หรือความไวในการตอบสนองของข้อมูล สามารถสั่งงานควบคุมสิ่งต่างๆได้อย่างรวดเร็ว หรือเรียกว่าแทบจะทันที จากตอน 4G เฉลี่ยใช้งานจริงจะอยู่ราว 100-200ms แต่เมื่อเป็น 5G จะลดลงไปถึง 100 เท่า เหลือน้อยกว่า 1ms ทางทฤษฎี อธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือทุกอย่างที่อยู่บน 5G จะสามารถตอบสนองได้แบบ real-time คุณสามารถที่จะตอบสนอง พูดคุย สั่งงาน ทุกสิ่งที่คุณเชื่อมต่อด้วยกับคนอื่นๆอย่างไม่มีดีเลย์เลย ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกมส์ออนไลน์กับคนทั่วโลก ตอบสนองใน Virtual Reality กับคนอื่นๆได้อย่างไม่สะดุด อาจจะใส่เฮดเซ็ทแล้วบังคับโดรนหรือรถยนต์ที่อยู่อีกที่หนึ่งของโลก หรือให้น่าสนใจขึ้นไปอีกคือให้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเองไปเลย

 

นั้นก็นำมาซึ่งการพัฒนาอีกอย่างหนี่งที่ 5G จะทำให้เป็นจริงได้คือระบบขนส่งที่ขับเคลื่อนด้วย AI และเชื่อมต่อกันด้วยอินเตอร์เน็ต รถยนต์ไร้คนขับเหล่านี้จะส่งข้อมูลหากัน รับส่งสัญญาณจากไฟจราจร เซนเซอร์บนถนน  โดรนที่ลอยอยู่บนท้องฟ้า ฯลฯ ลองนึกดูว่ามนุษย์สามารถตอบสนองด้วยความเร็วประมาณ 200-300 ms เรายังมีผิดพลาดและเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน แต่ถ้ารถยนต์ที่ขับเคลื่อนบนท้องถนนใช้ 5G และด้วยความเร็วในการตอบสนองที่ 1 ms สิ่งที่อาจจะหายไปไม่ใช่แค่อุบัติเหตุ แต่จะรวมไปถึงการจราจรที่ติดขัดด้วย เพราะรถยนต์เหล่านี้จะสามารถส่งข้อมูลถึงกันใน real-time และรู้เลยว่าต้องขับเร็วขนาดไหน ใช้ถนนเส้นไหน โดยผู้โดยสารสามารถนั่งพักอยู่ในเบาะหลังได้อย่างสบายใจ

 

นอกจากเรื่องยานพาหนะแล้วก็ยังมีเรื่องอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตทั้งหลายที่จะได้ประโยชน์ ลองคิดถึงหุ่นยนต์ที่ใช้ในการทำการผ่านตัด อุปกรณ์เหล่านี้สามารถถูกควบคุมโดยนายแพทย์อันดับหนึ่งของโลกจากบ้านของตัวเองในอเมิรกา โดยมีผู้ช่วยที่กำลังเดินทางอยู่เมืองไทย และการผ่าตัดเกิดขึ้นที่แอฟริกา นี่คือเรื่องของความเป็นความตายและเทคโนโลยีเหล่านี้จะเข้ามาช่วยทำให้ชีวิตของคนบนโลกนี้ดีขึ้น

 

นอกเหนือจากนั้นยังมีหุ่นยนต์ในโรงงานที่สามารถทำงานได้ดีขึ้น ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดรนที่ช่วยในการทำการเกษตรที่รับส่งสัญญาณจากเซนเซอร์ที่อยู่บนพื้นว่าตรงไหนต้องการน้ำ ปุ๋ย ยากำจัดแมลง หรือพร้อมจะเก็บเกี่ยวแล้ว โดยที่มนุษย์ไม่ต้องเข้าไปแตะเลย

 

5G คืออนาคตที่น่าทึ่ง จึงไม่แปลกใจที่บริษัทต่างๆลงทุนสุดตัวเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีตัวนี้ ภายในปีนี้เราจะเริ่มเห็นโฆษณาของระบบสื่อสารเกี่ยวกับ 5G มากขึ้นเรื่อยๆและในปีหน้า 2020 ก็จะเริ่มต้นใช้งานกันบ้างบางพื้นที่

 

แม้ว่า 5G จะมีประโยชน์และสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมากมาย ก็ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีข้อด้อยเลย อย่างแรกที่เราต้องถามก่อนว่า “ทำไมมันถึงได้เร็วขนาดนี้?” คำตอบก็คือว่ามันใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Millimeter Waves ที่ความถี่สูงและความยาวคลื่นสั้นกว่า 4G ซึ่งปัญหาใหญ่ของมันก็คือมันส่งสัญญาณไปไม่ได้ไกลเท่าไหร่ ในคลื่นของ 4G เราอาจจะห่างจากเสาสัญญาณได้ไกลเกือบ 10 กิโลเมตร ส่วน 5G ไกลสุดได้แค่ประมาณ 300 เมตรเท่านั้น แถมยังผ่านผนังไม่ได้และถ้าอากาศไม่ดีฝนตกก็สัญญาณหายได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นทางแก้ไขปัญหานี้ก็คือการสร้างจุดรับส่งสัญญาณขนาดเล็กที่มีเต็มไปหมดทุกแห่งในพื้นที่

 

โดยการมีจุดรับส่งสัญญาณมากมายแบบนี้นำมาซึ่งประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของ 5G ก็คือสามารถรองรับอุปกรณ์ได้มากขึ้นในขนาดพื้นที่เดียวกันเมื่อเทียบกับ 4G เพิ่มขึ้น 10 เท่าจากที่สามารถรับคนได้ราว 1 แสนคนต่อพื้นที่ 1 ตร.กม. กลายเป็น 1 ล้านคนต่อพื้นที่ 1 ตร.กม.

 

ถึงตอนนี้หลายคนอาจจะถามว่าอีกนานไหมกว่าเราจะได้เห็นรถยนต์ไร้คนขับบนท้องถนน หุ่นยนต์ที่ทำการผ่าตัดโดยนายแพทย์ผ่านอินเตอร์เน็ต โดรนที่ทำงานแบบอัตโนมัติกับเซ็นเซอร์ในพื้นที่เกษตกรรม คำตอบก็คือ “อีกไม่นานเกินรอ” แล้วหล่ะครับ เพราะภายในปี 2020 เราจะเริ่มเห็น 5G กันมากขึ้นเรื่อยๆ และสองสามปีต่อจากนั้นผู้ใช้งานก็จะได้ทดลองใช้งาน ปรับปรุง แก้ไข พัฒนาและเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อทุกอย่างพร้อม ทั้งระบบสัญญาณ ฮาร์ดแวร์ ซอฟแวร์ และที่สำคัญคือมนุษย์ เราก็คงได้เห็นว่าโลกอนาคตจะออกมาหน้าตาแบบไหนกันแน่

 

 โดย โสภณ สุขมั่งมี คอลัมนิสต์และนักเขียน ผลงานหนังสือของเด็กโข่ง เรื่อง เดอะ เนิร์ด ออฟ ไมโครซอฟต์ (The Nerd of Microsoft)

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา