CAT datacom News & promotion

ศูนย์รวมข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับ CAT datacom

จับตานวัตกรรมสู้ฝุ่นเพื่อ ‘ลมหายใจ’ ของทุกคน

22.01.2020

ดูเหมือนว่าปี 2020 จะต้อนรับคนไทยอย่างไม่อบอุ่นเท่าไรนัก ด้วยการกลับมาของปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ค่าฝุ่นในพื้นที่หลายแห่งในกรุงเทพฯ นั้นสูงเกินมาตรฐาน และส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ที่น่าแปลกใจ ไม่แพ้กันคือ ผู้คนใส่หน้ากากกันฝุ่นน้อยลง ซึ่งอาจสะท้อนว่าคนส่วนใหญ่ยังมองข้ามปัญหาดังกล่าว และขาดการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมในระยะยาว

 

ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่เราเริ่มเสียสิทธิ์ที่จะสูดอากาศบริสุทธิ์ไป?

ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น เพราะในปัจจุบันปัญหามลพิษทางอากาศกลายเป็นวิกฤตใหญ่ ที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญ ตั้งแต่ประเทศจีน อินเดีย ปากีสถาน โปแลนด์ ไปจนถึงออสเตรเลียที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ แต่ใช่ว่าทั้งหมดนี้จะไร้ทางออกเสียทีเดียว อันที่จริงประเทศต่างๆ ได้มีนโยบายจัดการแก้ปัญหาฝุ่นละออง ซึ่งเป็นกรณีศึกษาสำคัญ เช่น ประเทศจีนได้ประกาศสงครามกับมลพิษตั้งแต่ปี 2014 และเดินหน้าแผนยุทธศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาอย่างเข้มงวด ตั้งแต่กปิดโรงงานถ่านหิน การติดตั้งหอฟอกอากาศสูง 100 เมตรในเมืองซีอาน ไปจนถึงการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน รถยนต์และระบบขนส่งที่ใช้พลังงานไฟฟ้าทั่วประเทศ

 

ลองมาดูกันว่ามีเทคโนโลยีใหม่ๆ อะไรบ้างที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อรับมือกับวิกฤตนี้

 

                                                                                   ภาพจาก www.ao-air.com

 

Aō Air หน้ากากกันฝุ่นสุดล้ำ ราวกับหลุดมาจากหนัง Sci-fi

 

Atmost Faceware ได้เผยโฉมหน้ากากกันฝุ่นสุดล้ำ Aō Air และวางขายครั้งแรกในงานแสดงสินค้าเทคโนโลยี CES 2020 เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยเรียกเสียงฮือฮาด้วยราคาที่สูงถึง 350 ดอลลาร์หรือประมาณ 10,600 บาท นอกจากหน้ากากจะโปร่งใสเผยให้เห็นใบหน้าของผู้ใส่แล้ว ยังมีระบบกรองอากาศในตัว โดยบริษัทเคลมว่าใช้เทคโนโลยี PositivAir™ ที่วิจัยพัฒนาขึ้นเอง มีระบบฟิลเตอร์หลายชั้น และสามารถดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็กระดับนาโน เช่น PM 2.5 ได้มากกว่า 98% แต่ราคาที่ยากจะจับต้องก็ทำให้เราสงสัยว่าอากาศบริสุทธิ์กำลังถูกจำกัดสำหรับคนเฉพาะกลุ่มหรือเปล่า

 

                                                                                                 naava.io

 

Naava เปลี่ยนผนังในออฟฟิศให้เป็นแหล่งผลิตอ็อกซิเจน

 

Naava สตาร์ทอัพสัญชาติฟินแลนด์ได้นำเทคโนโลยี AI และเซนเซอร์เข้ามาแปลงร่างผนังในออฟฟิศให้เป็นกำแพงปลูกต้นไม้แนวตั้ง สามารถกรองอากาศอัตโนมัติได้เทียบเท่ากับต้นไม้ 6 พันต้น! ผู้ก่อตั้งอธิบายว่าทุกวันนี้เราใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในตึกมากกว่าออกไปข้างนอก เขาจึงต้องการสร้างสิ่งที่ช่วยให้คนกลับมาใกล้ชิดกับธรรมชาติอีกครั้งผ่าน Green Wall นอกจากจะใช้ต้นไม้จริงช่วยกรองอากาศแล้วยังช่วยรักษาระดับความชื้น และลดปริมาณสารเคมีในอาคาร ที่ผู้คนหายใจเข้าไปโดยไม่รู้ตัว บริษัทฯ ให้บริการติดตั้งผนังสีเขียวตามออฟฟิศ โคเวิร์กกิงสเปซ ร้านค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ไปจนถึงโรงแรม

 

                                                                ภาพจาก https://www.studioroosegaarde.net

 

ป้ายบิลบอร์ดโฆษณาช่วยเขมือบฝุ่นในเม็กซิโก

 

นี่คืออีกหนึ่งไอเดียที่น่าทึ่งของ Daan Roosegaarde นักออกแบบชาวดัทช์ที่สนใจปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม หลังจากโด่งดังจากการสร้างเครื่องฟอกอากาศสุดล้ำ Smog Free Tower แถมยังต่อยอดนำฝุ่นมาใส่ในเครื่องประดับสุดเก๋ ปีที่แล้วเขายังร่วมมือกับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย UDEM ในเม็กซิโก ทำป้ายบิลบอร์ดโฆษณายักษ์ที่ดูดกรองฝุ่นได้ โดยใช้สารเรซินพิเศษที่คิดค้นใหม่เคลือบป้ายโฆษณา เมื่อสารเรซินพิเศษโดนแสงอาทิตย์ก็จะเกิดกระบวนการโฟโตคะตะไลซีส (Photocatalytic process) เพื่อเปลี่ยนฝุ่นควันให้เป็นอากาศบริสุทธิ์ เรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมที่ไม่เหมือนใครและสร้างสรรค์อย่างแท้จริง

 

                                                       ภาพจาก https://www.facebook.com/studiosymbiosis/

 

Aũra เครื่องฟอกปอดของเมืองเดลี

เดลี ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดอันดับต้นๆ ของโลก ประชาชนต้องทุกข์ทนกับมลพิษทางอากาศที่สูงเกินค่ามาตรฐานของ WHO มากถึง 25 เท่า Studio Symbiosis สตูดิโอออกแบบจึงเสนอไอเดียให้สร้างเครื่องกรองฝุ่นยักษ์ Aũra ที่มีดีไซน์สุดล้ำ ดูคล้ายกับลำต้นไม้ใหญ่ หวังคืนอากาศบริสุทธิ์ให้กับทุกชีวิต Aũra มี 2 ขนาด คือ สูง 18 เมตร กับ 60 เมตร ภายในมีระบบฟิลเตอร์ที่สามารถดูดอนุภาคฝุ่นเข้ามาเพื่อฟอกและปล่อยอากาศบริสุทธิ์ออกมาแทน เพื่อช่วยลดมลพิษในเมือง โดยมีการอ้างอิงว่าเครื่องขนาด 18 เมตร นั้นสามารถกรองอากาศบริสุทธิ์ได้มากถึง 30 ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน นอกจากนี้สตูดิโอยังวางแผนจะออกแบบให้เครื่องกรองอากาศ ทำงานควบคู่กับโดรนที่วัดค่าและรายงานแบบเรียลไทม์ในแต่ละมุมเมือง

 

PM 2.5 กับสิทธิการหายใจของคนไทยที่กำลังจะหายไป?

แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศให้การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ให้เป็นวาระแห่งชาติในปีที่แล้ว แต่ท้องฟ้าของกรุงเทพฯ ยังคงเป็นสีเทาหม่นมาจนถึงวันนี้ อย่างไรก็ตาม เราก็ยังได้เห็นความพยายามที่จะแก้ปัญหาบ้าง เช่น หน่วยงานกทม.ได้ทดลองติดตั้งหอฟอกอากาศ

ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรม โดยผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง

ทางสถาบันการศึกษาเองก็เริ่มมีบทบาทสำคัญเช่นกัน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พยายามยกระดับการแก้ปัญหาในบริเวณมหาวิทยาลัย และชุมชน โดยจับมือกับ CAT เดินหน้าพัฒนาระบบเซนเซอร์ตรวจวัดและวิเคราะห์รูปแบบการเกิดของฝุ่น PM 2.5 บนโครงข่ายการสื่อสาร LoRaWAN ซึ่งสามารถส่งสัญญาณทางไกลและรองรับการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์กับอุปกรณ์ (M2M) งานวิจัย “PM 2.5 Sensor for All” นี้มุ่งไปที่การใช้ IoT บันทึกข้อมูลจากเซนเซอร์ที่ติดตั้งในแต่ละจุดมาไว้ในระบบคลาวด์เซิร์ฟเวอร์ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data Analytic วิเคราะห์ผลกระทบและปัจจัยแวดล้อมที่ก่อให้เกิดฝุ่น  เช่น ลม หรือ ฝน แล้วนำมาจัดทำ Air Model เพื่อศึกษาคุณภาพอากาศและทำนายสภาพอากาศในแต่ละพื้นที่ และในปีนี้ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน RISC ภายใต้บริษัท MQDC ก็ได้เปิดตัวต้นแบบหอฟอกอากาศระดับเมือง

นี่ถือเป็นสัญญาณอันดี และต้องรอดูกันต่อไปว่าการแก้ปัญหานี้จะยืนระยะนานแค่ไหน

ก็ได้แต่หวังว่าท้องฟ้าในประเทศไทยจะสดใสขึ้นในเร็ววัน

 

 

    โดย ปิยพร อรุณเกรียงไกร นักเขียนอิสระผู้ชอบติดตามเทรนด์ไลฟ์สไตล์และเทคโนโลยี

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา