CAT datacom News & promotion

ศูนย์รวมข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับ CAT datacom

รู้จัก CoderDojo Thailand ชุมชนที่สร้างกระบวนการเรียนรู้คอมพิวเตอร์สำหรับเด็กแห่งยุคดิจิตอล

26.09.2018

โดย จุมพฏ ศรียะพันธ์ ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่าย HomeSchool Network กลุ่มสนับสนุนผู้จัดการศึกษาในแบบ homeschool อดีตโปรแกรมเมอร์ คอลัมนิสต์ IT และผันตัวมาเป็นเกษตรกรปลูกกาแฟบนพื้นที่สูงในปัจจุบัน

 

ในปัจจุบัน Coding และวิทยาการคำนวณ เป็นทักษะที่มีความสำคัญและจำเป็นมากขึ้น โดยถูกบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวิชาหลักในกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ปีการศึกษานี้ (2561) ซึ่งส่งผลให้นักเรียนทั่วประเทศต้องเรียนวิชานี้ตั้งแต่ระดับชั้นประถมหนึ่งจนถึงมัธยมหก เป็นหนึ่งในทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่เด็กๆ ควรมี พ่อแม่หลายคนจึงเริ่มให้ความสำคัญ หรือบางครอบครัวก็เพียงอยากเห็นเด็กใช้งานคอมพิวเตอร์ในเชิงรุก (เขียนโปรแกรม) มากกว่าการตั้งรับ (เล่นเกม) การเรียนเขียนโค้ดจึงเป็นหนึ่งในกระบวนการ “สอนพิเศษ” เกิดขึ้นอีกหลายๆ แห่ง ซึ่งในระหว่างนั้นก็มีชุมชนศึกษาคอมพิวเตอร์แห่งหนึ่งที่ไม่ใช่เพียงที่ “เรียนพิเศษ” แต่เป็นชุมชนการเรียนรู้ ที่เด็กๆ มาเจอ มาเล่น มาเขียนโค้ดด้วยกัน สร้างผลงานที่น่าทึ่งรวมถึงออกแบบกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง

 

CoderDojo เริ่มต้นจากสามครอบครัว คือครอบครัวศรียะพันธ์ ซึ่งเป็นครอบครัวที่จัดการศึกษาแบบบ้านเรียนหรือ homeschool และเป็นอาสาสมัครสอนคอมพิวเตอร์ให้เด็กๆ จากเชียงใหม่ คุณแอนนี่ คุณแม่นักจัดกิจกรรม และคุณมิชารี มุคบิล (อดีต CEO ของ Proteus Ops บริษัท IT ชั้นนำของไทย) เป็นผู้นำเสนอ CoderDojo เป็นโครงการสอนคอมพิวเตอร์เด็กแบบอาสาสมัคร ซึ่งมีสาขาทั่วโลกร่วมสองพันแห่ง แต่ยังไม่มีการจัดในประเทศไทยหรือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ในขณะนั้น) และเมื่อความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน CoderDojo Thailand ก็ถือกำเนิดขึ้น โดยจัดรอบทดลองครั้งที่ 0 ที่คอนโดของคุณมิชารีเองโดย ให้ลูกๆของทั้งสามครอบครัวทดลองเรียนรู้ไปพร้อมกัน และเมื่อมองเห็นศักยภาพของเด็กๆในครั้งนั้น จึงเริ่มต้นนับครั้งที่ 1 กันที่ Ma:D Co-working Space เอกมัย ถึงวันนี้ CoderDojo Thailand กระจายแนวคิดกันออกไปจนกลายเป็น CoderDojo กว่าสิบแห่งทั่วประเทศในเวลาเพียงสามเดือน และเปิดอย่างต่อเนื่อง 5 แห่งในกรุงเทพฯ และในจังหวัดต่างๆ เช่น ราชบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต สงขลา ปัตตานี ซึ่งแต่ละแห่งมีการจัดการและการบริหารเป็นอิสระจากกันโดยอาสาสมัครในพื้นที่

 

CoderDojo เรียกได้ว่าเป็นชุมชนศึกษาคอมพิวเตอร์สำหรับเด็กมากกว่าที่จะเรียกว่าเป็นคอร์สสอนคอมพิวเตอร์ โดยเรียกอาสาสมัครผู้จัดการพื้นที่ว่าแชมเปียน (Champion) เรียกผู้ให้คำแนะนำด้านเทคนิคว่าเมนเตอร์ (Mentor) และเด็กๆ ที่มาเรียน จะถูกขนานนามว่า “นินจา” โดยแนวคิดหลักๆ คือรับผู้ที่สนใจตั้งแต่อายุ 7-17 ปี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แค่เอาตัวมาให้ถึงโดโจในวันที่มีการจัดกิจกรรมให้ได้เป็นพอ สิ่งเดียวที่จำกัดคือจำนวนที่นั่งในการจัดกิจกรรมซึ่งก็แล้วแต่ความพร้อมของพื้นที่ จากนั้นก็ Be Cool มาสนุกกัน

 

สิ่งที่น่าสนใจใน CoderDojo จริงๆ คือกระบวนการเรียนการสอนในโดโจ ปกติเราจะคุ้นเคยกับรูปแบบการเรียนแบบครูยืนหน้ากระดาน ส่วนเด็กๆ นั่งประจำโต๊ะฟังครูไป แต่สำหรับโดโจ ได้เน้นไปที่การ mentor ที่ไม่ใช่ teacher โดยให้เด็กโต หรือรุ่นพี่ ที่มีความรู้มากกว่าเป็นผู้แนะนำให้เด็กๆ จึงเกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เด็กที่เคยไปครั้งแรก ไม่รู้จักใคร จับต้นชนปลายไม่ถูก พี่ๆก็จะเข้ามาดู มาไกด์เบสิคให้ ยกตัวอย่างบทสนทนาที่เกิดขึ้นในคลาส อาทิ

 

 

“พี่เข้ม มาดูน้องคนนี้หน่อย”

“พี่คราม น้องมาใหม่ สอน code.org หน่อย พาน้องรีจิสเตอร์ด้วยนะ”

“ทำงานอะไรค้างอยู่หรือเปล่าครับ เอ้า..งั้นทำต่อไป หรืออยากไปลองดูที่เพื่อนทำก็มารวมกลุ่มทางนี้”

“วันนี้เรามาเป็นฮีโร่ช่วยโลกกัน ใครอยากร่วมโครงการทำแผนที่ออนไลน์ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ญี่ปุ่น มาทางนี้เลย”

 

ในการเรียนใช้เครื่องมือออนไลน์ฟรีเท่าที่หาได้ในอินเทอร์เน็ต เช่น code.org learnpython.org codecombat.com หรือ Scratch ซึ่งเป็นภาษาคอมพิวเตอร์สำหรับเด็ก  บางทีเมนเตอร์ก็ไม่ได้สอนอะไรมากไปกว่าช่วยแปลภาษาอังกฤษในส่วนที่เด็กไม่เข้าใจให้ หรือเชียร์ให้เด็กพยายามลองผิดลองถูกด้วยตนเอง บางครั้งก็มีของเล่นใหม่ๆ มาแบ่งกันเล่น เช่นหุ่นยนต์ หรือบอร์ดคอมพิวเตอร์ฝังตัวสำหรับเด็ก หรือบางทีมีหัวเรื่องอะไรที่น่าสนใจเด็กๆ ก็จะเอามาคุยกัน การเรียนด้วยสื่อออนไลน์ก็ไม่ได้ยากนัก ที่มีปัญหาอยู่บ้างก็คือเรื่องของภาษา เพราะสื่อเหล่านี้ส่วนมากจะมาเป็นภาษาอังกฤษ สำหรับเด็กที่ไม่คุ้นกับการใช้ภาษาอังกฤษ ก็อาจจะต้องการการช่วยเหลือเยอะหน่อย แต่พอไปสักพักกระบวนการกลุ่มก็ทำงานได้เอง ถามกันเองเรียนกันเองกระทั่งทดลอง ดำน้ำกันไปเองก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้

 

ใครๆ ก็สามารถตั้ง CoderDojo เองได้ โดยจดทะเบียนกับมูลนิธิ CoderDojo ผ่านเว็บ https://coderdojo.com โดยตรง  หรือมาปรึกษากลุ่ม CoderDojo Thailand ก็ได้ มีระเบียบปฏิบัติอยู่ไม่กี่อย่าง เช่นห้ามกีดกันผู้มาเรียน ห้ามเก็บเงินจากผู้เรียน และให้ใช้สถานที่สาธารณะเป็นที่จัดการเรียน ไม่ใช่บ้านส่วนตัว (เพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัยและป้องกันปัญหาอันอาจจะเกิดขึ้น) ซึ่งโดโจแต่ละแห่งมีการจัดการแบบอิสระ จัดการเรียนการสอน หรือจัดคอร์สต่างๆ ได้เอง แต่ก็มีคู่มือ ไกด์ไลน์วิธีการจัดการมาให้เยอะเหมือนกันซึ่งน่าสนใจมาก บางครั้งเป็นแนวคิดที่ดูเหมือนง่ายๆ แต่ไม่เคยมีใครทำกันมา เช่น mentor ไม่ใช่ teacher หรือกระบวนการ Ask Three Then Me. ถ้านินจาคนไหนสงสัยอะไร ให้ถามมาเพื่อนข้างๆหรือรุ่นพี่มาสามคนก่อนแล้วค่อยมาถามเมนเตอร์ นั่นคือรูปแบบการจัดกิจกรรมของโดโจ น้อยครั้งที่จะมีการยืนสอนหน้ากระดานแล้วเด็กก็นั่งฟังไป แต่จะเป็นการมาเรียนรู้ร่วมกันจริงๆ เด็กแต่ละคนสามารถเรียนในสิ่งที่ตนเองสนใจ และแบ่งปันความรู้เหล่านั้นกับเพื่อนๆ ได้

 

โดยที่ผ่านมา เด็กๆ ใน CoderDojo สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ปกครองและผู้ใหญ่รอบๆ ตัวอย่างยิ่ง อาทิ การเขียนโปรแกรมสร้างเกมคอมพิวเตอร์ด้วยตนเอง การสร้างหุ่นยนต์ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก หรือโครงการอาสาสมัครระดับโลกเช่นการร่วมทำแผนที่ดิจิตอลช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในประเทศญี่ปุ่น

 

CoderDojo จึงไม่เชิงว่าเป็นคลาสหรือชั้นเรียนสอนวิชาใดวิชาหนึ่งโดยเฉพาะเสียทีเดียว แต่เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้และแบ่งปัน มากกว่าที่จะมาในฐานะผู้รับ นินจาแต่ละคนเรียนรู้ด้วยตนเอง  เรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองสนใจ และแบ่งปันการเรียนรู้นั้นให้กับเพื่อนๆ เรียนรู้จากเพื่อนและสอนคนอื่นต่อ เป็นความหมายที่แท้จริงของโดโจ

 

ติดตามความน่าสนใจ หรือร่วมกิจกรรมต่างๆของ CoderDojo Thailand ได้ที่

https://www.facebook.com/CoderDojoTH/

 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา