ศูนย์รวมข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับ CAT datacom
ในปี 2563 ที่ผ่านมา คนไทยส่วนใหญ่คงคุ้นเคยกับการใช้แอปพลิเคชัน "ไทยชนะ" สำหรับสแกน QR Code ก่อนเข้าและหลังออกจากสถานที่ในชุมชนทั่วประเทศ เพื่อเป็นการบันทึกสถานที่กับวันเวลาเข้าออกลงในระบบ เมื่อมีการตรวจพบว่าพื้นที่นั้นเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ก็จะแจ้งเตือนความเสี่ยงไปยังบุคคลที่อาจติดเชื้อผ่านทาง SMS ไปยังหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่ได้ลงทะเบียนไว้ แต่การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในปี 2564 นี้ คนไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้แอปฯ "หมอชนะ" ควบคู่กับ "ไทยชนะ" และเสริมด้วยแอปพลิเคชันอื่นที่ช่วยระบุพื้นที่เสี่ยง พร้อมคำแนะนำหรือให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับโรคโควิด-19
รู้จักแอปฯ "หมอชนะ" ที่ภาครัฐกำลังรณรงค์บังคับใช้
หมอชนะ เป็นแอปพลิเคชัน Contact Tracing ที่พัฒนาขึ้นโดย “ทีมพัฒนาร่วมประชาชน เอกชน และภาครัฐ” เปิดให้ดาวน์โหลดตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2563 (ก่อนเปิดตัวแอปฯ ไทยชนะ ประมาณ 1 เดือนเศษ) เพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยติดตาม ควบคุม และหยุดยั้งการระบาดของโรคโควิด-19 แต่เนื่องจากไม่ได้ประกาศบังคับใช้ คนไทยส่วนใหญ่จึงไม่รู้จัก ไม่เคยลงทะเบียนเปิดใช้งาน หลายคนเข้าใจผิดว่า ติดตั้งแอปฯ ไทยชนะ ไว้สแกนเข้าออกทุกพื้นที่ที่เดินทางไปก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่ในความเป็นจริง การทำงานของ 2 แอปฯ นี้ มีความแตกต่างกัน หากใช้ควบคู่กัน หมอชนะ + ไทยชนะ ก็จะได้ความปลอดภัยและแม่นยำมากกว่า ช่วยให้ตรวจสอบไทม์ไลน์ย้อนหลังได้ง่ายขึ้นด้วย
แอปพลิเคชัน หมอชนะ ทำหน้าที่เก็บข้อมูลการเดินทางและข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ใช้แอปฯ โดยใช้เทคโนโลยีระบุตำแหน่งพิกัด (GPS) และบลูทูธ (Bluetooth) ร่วมกับการสแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) เพื่อให้ผู้ใช้เช็คอินตามสถานที่ต่าง ๆ รวมเป็นฐานข้อมูลไว้ให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้ในการตรวจสอบ ติดตาม และควบคุมการแพร่ระบาด โดยแอปฯ จะทำหน้าที่เป็นเหมือน e-Health Passport ที่แสดงสถานะระดับความเสี่ยงในการติดเชื้อของผู้ใช้แอปฯ ซึ่งสถานะความเสี่ยงนี้ จะได้รับการประเมินจากข้อมูลการเดินทางที่มีในระบบกับกรมควบคุมโรค แสดงออกมาเป็นค่าสีและแจ้งเตือนโดยอัตโนมัติ เพื่อจะได้เฝ้าระวัง สังเกตอาการและปฏิบัติตนได้ถูกต้อง ตลอดจนได้รับการดูแลอย่างรวดเร็วจากบุคลากรทางการแพทย์หากพบว่ามีความเสี่ยงในการติดเชื้อ
ในส่วนของสถานที่สาธารณะทั้งของราชการและเอกชน ตลอดจนห้างร้าน สถานประกอบการต่าง ๆ รวมถึงหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดต่าง ๆ สามารถใช้การสแกนเช็คอินเพื่อตรวจสอบความเสี่ยงของผู้มาใช้บริการ เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อและการแพร่ระบาดในพื้นที่ ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้กับทั้งผู้ประกอบการ เจ้าของสถานที่และผู้มาใช้บริการ หน่วยงานปกครองสามารถดูแลตรวจสอบประชาชน และจังหวัดสามารถตรวจสอบประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าพื้นที่ได้ เป็นอีกหนึ่งมาตรการควบคุมความเสี่ยง ควบคู่กับมาตรการเฝ้าระวังอื่น ๆ ที่ภาครัฐกำหนดไว้
แอปฯ หมอชนะ ออกแบบโดยเน้นเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลและการป้องกันการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล โดยพัฒนาขึ้นแบบ Open Source เก็บข้อมูลบน Cloud AWS จึงมั่นใจได้ในเสถียรภาพและตรวจสอบความโปร่งใสได้ นอกจากนี้ ข้อมูลการเดินทางและหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ใช้ถูกเก็บแยกออกจากกัน มีเพียงกรมควบคุมโรคเท่านั้นที่สามารถเชื่อมต่อข้อมูลสองส่วนนี้ เพื่อระบุตัวตนของผู้ใช้ในกรณีพบว่าติดเชื้อหรือมีความเสี่ยง เพื่อประโยชน์ในการสอบสวนโรคได้อย่างรวดเร็ว ทั้งหมดนี้ภายใต้การกำกับดูแลโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA และคณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูลที่จัดตั้งขึ้น เพื่อดูแลและตรวจสอบกระบวนการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หมอชนะ จึงเป็นแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นด้วยความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ โดยมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ให้การสนับสนุน
เมื่อลงทะเบียนเปิดใช้แอปฯ หมอชนะ จะต้องถ่ายรูปหน้าตรง เพื่อยืนยันว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ใช้งานจริง สามารถติดตามเส้นทางของผู้ใช้ตลอดเวลาที่นำสมาร์ทโฟนติดตัวไปด้วย ซึ่งจะเป็นเครื่องมือให้กรมควบคุมโรคใช้ประกอบในการสืบสวนโรค และใช้ในการค้นหาว่าผู้ใช้แอปฯ รายใดอยู่ในสถานที่เสี่ยงในช่วงวันและเวลาร่วมกับผู้ติดเชื้อ เพื่อกรมควบคุมโรคจะได้ส่งข้อความแจ้งเตือน
ทั้งนี้ แอปฯ หมอชนะจะเก็บรูปถ่ายของผู้ใช้งานไว้บนสมาร์ทโฟนเท่านั้น จะไม่เก็บรูปถ่ายไว้ที่ Server ส่วนกลางของระบบแต่อย่างใด ในกรณีที่สมาร์ทโฟนไม่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต แอปฯ จะเก็บข้อมูลเส้นทางการเดินทางจาก GPS ไว้บนสมาร์ทโฟนก่อน เมื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้แล้วจึงจะส่งข้อมูลไปจัดเก็บที่ระบบส่วนกลาง ที่สำคัญคือไม่มีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อ นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์ อีเมล ที่อยู่ และอื่น ๆ ในระบบส่วนกลาง
ปัญหาจากการปกปิดไทม์ไลน์หรือผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่อาจจำไม่ได้ว่าในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาได้เดินทางไปสถานที่ใดบ้าง รวมทั้งอาจไม่ได้สแกน QR Code ในทุกสถานที่ที่แวะเดินทาง ก็แก้ปัญหาด้วยการใช้ GPS ระบุพิกัดตลอดเวลาบนแอปฯ หมอชนะ ซึ่งผู้ใช้จำเป็นต้องเปิดใช้ GPS กับ Bluetooth ตลอดเวลาที่เดินทางออกนอกที่พักอาศัย เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนในชุมชน แต่ก็มีผลทำให้แบตเตอรี่ของสมาร์ทโฟนหมดเร็วกว่าเดิมพอสมควร เนื่องจากมีฟีเจอร์ค้นหาการเข้าใกล้บุคคลอื่นที่มีความเสี่ยง ซึ่งก็สามารถปิดฟีเจอร์นี้ในเมนูตั้งค่าแอปฯ เพื่อประหยัดพลังงานในกรณีที่แบตเตอรี่ใกล้หมดและไม่สามารถชาร์จไฟได้ในขณะนั้น
หมอชนะ จะให้ผู้ใช้ประเมินความเสี่ยงจากอาการของตัวเองจากการตอบคำถามสุขภาพ โดยแบ่งระดับของความเสี่ยงเป็น 4 ระดับคือ สีเขียว, สีเหลือง, สีส้ม และสีแดง โดยสีแดงเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงมาก ทั้งมีอาการชัดเจนและมีประวัติไปต่างประเทศหรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา จะต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที
ประกาศล่าสุดจากกระทรวงดิจิทัลฯ สำหรับผู้ใช้แอปฯ หมอชนะ จะไม่คิดค่า Data ในทุกเครือข่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ รวมถึงซิม NT Mobile, my และ TOT Mobile ของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ด้วยเช่นกัน เพื่อรณรงค์ให้ทุกคนต้องใช้งานแอปฯ หมอชนะ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าบริการอินเทอร์เน็ต
ไทยชนะ แอปฯ สแกน QR Code ที่ยังจำเป็นต้องใช้ต่อไป
แม้ว่าจะเปิดใช้แอปฯ หมอชนะ เพื่อระบุพิกัดตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่ก็ยังแนะนำให้ใช้แอปฯ ไทยชนะ ของกระทรวงสาธารณสุขในการสแกน QR Code เช็คอินอย่างเคร่งครัดทั้งเข้าและออกจากทุกร้านค้าย่อยและทุกสถานที่ที่เดินทางไป จะช่วยเพิ่มความแม่นยำมากขึ้น เนื่องจากภายในอาคารหรือห้างสรรพสินค้าที่มีร้านค้าย่อยมากมาย GPS ไม่สามารถระบุถึงรายละเอียดได้ว่าเดินทางเข้าออกร้านใดบ้าง ในช่วงเวลาใด การสแกน QR Code จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กรมควบคุมโรค และสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ได้วิเคราะห์ระดับความเสี่ยงในการติดเชื้อของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ สอบสวนโรคได้ง่ายขึ้น
เป็นเรื่องที่ดีที่ผู้ประกอบการร้านค้าให้ความร่วมมือในการติด QR Code หน้าร้านให้เห็นอย่างชัดเจนในปี 2563 ที่ผ่านมา เก็บข้อมูลผู้เข้าใช้บริการหรือลูกค้าลงในระบบได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน แต่ก็ต้องรณรงค์กันต่อไป ให้ใช้การสแกน QR Code แทนการลงชื่อด้วยปากกาให้ได้ 100%
โดยความแตกต่างของแอปฯ ไทยชนะ เมื่อเปรียบเทียบกับแอปฯ หมอชนะ ก็คือ ไทยชนะ จะต้องลงทะเบียนด้วยหมายเลขโทรศัพท์มือถือ เพื่อแจ้งเตือนผ่าน SMS เมื่อมีผู้ป่วยโควิด-19 เคยอยู่ในพื้นที่ที่เช็คอิน แต่ หมอชนะ ใช้การลงทะเบียนแบบไม่ระบุตัวตน ไม่เก็บข้อมูลส่วนตัวลงในระบบ แต่แจ้งเตือนผ่านแอปฯ บนสมาร์ทโฟนเมื่อมีผู้ป่วยโควิด-19 เคยอยู่ในพื้นที่นั้นหรือเข้าใกล้จุดเสี่ยง คล้ายกับการแจ้งเตือนของแอปฯ โซเชียลทั่วไปที่ทุกคนใช้งานกันอยู่ ที่เด้งปรากฎขึ้นบนหน้าจอ
Away Covid-19 เตือนก่อนเข้าพื้นที่เสี่ยง
แอพพลิเคชั่น "Away Covid-19" เป็นมินิแอปฯ บน LINE เข้าใช้งานได้ง่าย ๆ เพียงแค่เพิ่มเพื่อน @AWAYCOVID19 หรือ Add LINE ที่ https://lin.ee/aiQ8lsq ซึ่ง Away Covid-19 พัฒนาโดยบริษัท MAPEDIA ที่มีความเชี่ยวชาญในด้าน GIS
Away Covid-19 ใช้งานง่าย เพราะแสดงผลด้วยแผนที่ ใช้กราฟิกบอกว่าจุดใดที่มีผู้ป่วยหรือเคยมีผู้ป่วยเดินทางไปที่นั่น แจ้งเตือนก่อนเข้าใกล้พื้นที่ว่ามีเคสผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้ออยู่จำนวนเท่าไร แสดงสถานะของผู้ติดเชื้อ เช่น กำลังรักษา รักษาหายแล้ว หรืออยู่ระหว่างกักตัว 14 วัน บอกระยะเวลาของพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวัง อ้างอิงจากไทม์ไลน์ของผู้ป่วย พร้อมแสดงพื้นที่ที่ถูกปิดตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
นอกจากนั้นก็ยังมีข้อมูลอัปเดตสถิติผู้ติดเชื้อในไทย ค้นหาเส้นทางไปสถานบริการตรวจเชื้อโควิด-19 แผนที่ข้อมูลร้านค้าที่จำหน่ายเจลล้างมือและหน้ากากอนามัย รวมถึงเมนูการบริจาคและขอรับสิ่งของอย่างเจลล้างมือหรือหน้ากากอนามัยไปให้ทางโรงพยาบาลและผู้ที่ขาดแคลน
COVID-19 Tracker อัพเดตทันสถานการณ์
เว็บแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัท 5Lab (อ่านว่า ไฟแล่บ) เป็นแพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 แบบเรียลไทม์ พร้อมระบุพิกัดและรายละเอียดของผู้ป่วยในประเทศไทย แสดงพื้นเสี่ยงเพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่นั้น แสดงการอัพเดตจุดเสี่ยงที่ผ่านการทำความสะอาดแล้ว และพิกัดสถานพยาบาลที่รองรับการตรวจโรคโควิด-19 รองรับการใช้งานทั้งบนสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ที่ https://covidtracker.5lab.co
ตรวจสอบอาการเบื้องต้นด้วยแอปฯ ใกล้มือหมอ
หากกังวลใจ ก็สามารถตรวจสอบอาการเพื่อตรวจคัดกรองเบื้องต้นด้วยตนเอง ว่ามีแนวโน้มติดเชื้อหรือมีอาการโรคโควิด-19 หรือไม่ ช่วยลดความเสี่ยงในการเดินทางมาตรวจที่โรงพยาบาล รวมถึงบันทึกประวัติอาการเพื่อติดตามผลย้อนหลังได้ มีคำอธิบายพร้อมรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับโควิด-19 ทั้งบทความและคลิปวิดีโอแนะแนวทางการดูแลตัวเองจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีทีมแพทย์จิตอาสาเฉพาะทางมาร่วมตอบคำถาม และลิสต์รายชื่อโรงพยาบาลที่สามารถทำการตรวจหาเชื้อแบบ PCR ได้ทันที
Smartwatch / Smartband ที่วัดค่า SpO2 ได้ ก็ช่วยเฝ้าระวังโควิด-19 ได้
นอกจากการใช้แอปพลิเคชันแล้ว เซนเซอร์ SpO2 ของ Smartwatch / Smartband บางรุ่นก็สามารถวัดระดับออกซิเจนในเลือดได้ ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ได้แม่นยำเที่ยงตรงเท่ากับอุปกรณ์ทางการแพทย์ 100% แต่ก็สามารถช่วยคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 ได้ หากระดับออกซิเจนในเลือดเริ่มลดลงเรื่อย ๆ ต่ำกว่าเกณฑ์ของคนสุขภาพดี ก็น่าสงสัยว่าคนนั้นอาจติดเชื้อโคโรนาไวรัสแบบที่ยังไม่แสดงอาการใด ๆ เลย ควรส่งตรวจและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด หากติดเชื้อจนลุกลามมากขึ้น ก็จะส่งผลต่อปอดและทางเดินหายใจมากขึ้น
ตัวอย่างของ Smartwatch / Smartband ที่มีเซนเซอร์ SpO2
อย่างไรก็ตาม ขอให้คนไทยทุกคนปลอดภัย ยังคงไม่ประมาทในการดำเนินชีวิตประจำวัน สวมใส่หน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐานทางการแพทย์ตลอดเวลาที่ออกนอกที่พักอาศัย ล้างมือบ่อย ระวังติดเชื้อจากลูกบิดประตู ก๊อกน้ำ ปุ่มกดลิฟต์ ราวจับทุกประเภทในพื้นที่สาธารณะ อย่าลืม Check in กับ Check out ทุกสถานที่ทุกครั้ง ติดตามอัพเดตพื้นที่เสี่ยงจากแอปพลิเคชัน และเปิด GPS กับ Bluetooth เพื่อให้การทำ Virus Tracking มีความถูกต้องแม่นยำมากที่สุดนั่นเอง
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา